กระทู้ความคิดเห็น

ผู้แสดงความคิดเห็น 0 คน
ผู้เข้าชม 1626 คน

? ????? 3 L ? ???????????????..?????????????
” ทฤษฎี 3 L ” ความรักแบบนี้สิ..ที่ลูกต้องการ

ไม่มีพ่อแม่คนไหนไม่รักลูก แต่ว่าการให้ความรักแบบไหนล่ะ ที่จะเหมาะเจาะพอดีต่อการเติบโต พัฒนาการทั้งกาย-ใจและความต้องการของลูกจริงๆ


L ที่ 1…Love : ความรักและการแสดงออก

สิ่งสำคัญที่ลูกวัยเตาะแตะต้องการไม่ใช่แค่คำบอกรักลูกเท่านั้น ต้องมีการแสดงให้รู้ว่ารักประกอบกันไปด้วย ซึ่งการแสดงออกดังกล่าวก็คือ

* ดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิด
สิ่งที่เด็กเล็กๆ 1-3 ขวบต้องการก็คือ การดูแลเอาใจใส่ ใกล้ชิด ให้ลูกได้รู้ว่าโลกที่เขาอยู่มีความมั่นคง ปลอดภัย มีคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วย คอยตอบสนองความต้องการของลูก หรือแสดงความรักด้วยความใกล้ชิด ลูบไล้ สัมผัส คอยกอดลูก

ซึ่งการดูแลเอาใจใส่ลูกอย่างใกล้ชิดนี้ คุณหมอบอกว่าจะทำให้เกิดสิ่งที่สำคัญ 2 อย่างคือ

“หนึ่ง ความผูกพัน หรือที่เรียกว่าสายสัมพันธ์ทางใจระหว่างพ่อแม่กับลูก เป็นพื้นฐานที่จะทำให้คนเรามีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี รู้จักการให้ความรักความผูกพันกับคนอื่นได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องสร้างขึ้นในช่วง 3 ขวบปีแรก”

สอง คือ ลูกจะเติบโตขึ้นด้วยความรู้สึกมั่นใจได้ว่าโลกนี้มั่นคงปลอดภัย สามารถนำความรู้สึกนี้ไปพัฒนาต่อไปในเรื่องความเป็นตัวของตัวเอง ความคิดสร้างสรรค์ การสำรวจ การสนใจใฝ่รู้ ฯลฯ เช่น ช่วงหัดเดิน พอลูกหันมาเห็นว่ามีพ่อแม่อยู่ตรงนั้นแล้วยิ้มให้ บอกไปได้ลูก ลูกก็อยากที่จะเดินต่อไป

* มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
การที่ลูกได้เล่น ได้สนุกกับพ่อแม่ หรือว่าเมื่อลูกทำอะไรได้แล้ววิ่งมาอวดความสำเร็จ แล้วพ่อแม่แสดงความชื่นชม ภูมิใจไปกับลูก ลูกก็จะเกิดความรู้สึกภูมิใจ และมีภาพพจน์ที่ดีต่อตัวเอง

ความสัมพันธ์ที่ดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่ออยู่ด้วยกันแล้วไม่ทะเลาะกัน เพราะเด็กในวัย 1 ขวบขึ้นไปจะเป็นวัยที่เริ่มดื้อ เริ่มต่อต้าน ไม่ชอบให้ใครขัดใจ ฉะนั้นเวลาที่พ่อแม่จะห้ามปราม ไม่อยากให้ลูกทำอะไรก็ควรหลีกเลี่ยงการขัดใจกันตรงๆ อาจจะใช้วิธีเอาของอื่นที่เล่นได้มาแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่เราจะห้ามแทน

วิธีที่จะควบคุมเด็กไม่ให้ทำอะไรนั้น คุณหมอบอกว่า “ควรจะใช้คำพูดที่นุ่มนวลให้กำลังใจกัน แต่ว่าในที่สุดเราก็คุมเขาในที อย่าใช้คำพูดตำหนิติเตียน เช่น เราอยากจะให้ลูกอาบน้ำหรือแปรงฟันก็อย่าใช้แต่วิธีบังคับ แต่ควรพูดชวนกันด้วยดี เล่นกันไป หรืออาจจะตะล่อม ชักชวนให้ทำด้วยความสนุก และเมื่อลูกทำเสร็จแล้วก็มีคำกล่าวแสดงความชื่นชมให้แก่ลูก”

* อย่าทำให้ลูกหวั่นไหว
ด้วยการทำหรือบอกว่าพ่อแม่ไม่รัก เช่น เมื่อลูกทำผิด หรือดื้อ คุณพ่อคุณแม่ก็มักจะว่าทำตัวอย่างนี้เดี๋ยวพ่อแม่ไม่รักนะ หรือว่าไม่อยากจะเลี้ยงแล้ว เพราะจะเป็นการทำให้ลูกหวั่นไหวในความรักของพ่อแม่เป็นอย่างมาก…คุณหมอวิฐารณแนะนำว่า

“สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พูดได้ดีกว่านั้นก็คือว่า หนูทำอย่างนี้ไม่ได้ เพราะคุณพ่อคุณแม่รักหนู จึงไม่ปล่อยให้หนูทำอย่างนั้น อย่าเอาความรักมาเป็นเครื่องต่อรอง เป็นเงื่อนไขในการอบรมพฤติกรรมลูก…
ส่วนการจะลงโทษ สอนระเบียบวินัยเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความรัก ฉะนั้นคำพูดที่ต้องหลีกเลี่ยงก็คือ คำพูดขู่ว่าจะไม่รัก ไม่อยากเลี้ยง ขู่ว่าจะทอดทิ้ง หรือจะส่งไปอยู่กับคนอื่น คำพูดขู่จะไปบั่นทอนความมั่นใจของลูก”

การตำหนิก็จะทำให้ลูกสูญเสียความมั่นใจในตนเอง เช่น การกล่าวหาว่าเป็นเด็กดื้อ ว่าซน ว่าไม่ดี สำหรับกรณีแบบนี้แนะนำว่า เมื่อลูกทำพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ก็ควรจะบอกว่าพ่อแม่ไม่ชอบที่ลูกทำแบบนี้ หรือให้ตำหนิที่ตัวพฤติกรรม ไม่ใช่ตำหนิที่ตัวลูก เช่น เวลาที่ลูกโมโหแล้วขว้างข้าวของก็ควรจะบอกว่าลูกจะขว้างของแบบนี้ไม่ได้ มุ่งตรงไปที่พฤติกรรมดีกว่าจะไปบอกว่าลูกดื้อ

* รักลูกให้เท่ากัน
การแสดงออกอีกแบบหนึ่งที่ทำให้ลูกเรารู้สึกไม่มั่นใจ หวั่นไหวกับความรักของพ่อแม่ก็คือ การปฏิบัติต่อลูกแต่ละคนที่ทำให้ลูกเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ยุติธรรมนั่นเอง อีกเรื่องที่สำคัญมากก็คือ การเปรียบเทียบกันระหว่างพี่น้อง การกระทำนี้จะไปบั่นทอนความรู้สึกของลูกเราคนใดคนหนึ่ง หรืออาจจะทั้งสองคนให้หวั่นไหว รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รัก หรือว่ารักพี่หรือน้องอีกคนหนึ่งมากกว่าตัวเอง

ในยามที่ลูกเกิดทะเลาะกันขึ้นมา ปัญหาที่ทำให้บรรดาลูกๆ คิดว่าพ่อแม่รักตัวน้อยกว่าพี่หรือน้องก็คือ การที่คุณพ่อคุณแม่มักจะเข้าไปช่วยตัดสินหรือลงโทษลูกๆ นั่นเอง ซึ่งในความคิดของเด็กก็มักจะคิดเข้าข้างตัวเองว่าถูกเสมอ แล้วทำไมคุณพ่อคุณแม่ถึงเห็นว่าเขาดีน้อยกว่าอีกคนหนึ่ง หรือลงโทษเขามากกว่าอีกคนหนึ่ง ฯลฯ สิ่งที่พ่อแม่ยกมาพูด เหตุผลในการตัดสิน การลงโทษ ส่วนใหญ่เด็กๆ มักไม่ยอมรับฟัง

ดังนั้น สิ่งที่ควรทำเมื่อลูกๆ ทะเลาะกันก็คือ ไม่เปรียบเทียบหรือตัดสินว่าใครผิดใครถูก เพียงแต่บอกว่า “พี่น้องต้องเล่นกันดีๆ ต้องรักกัน ถ้าเล่นกันแล้วทะเลาะกันต้องหยุดเล่น” หรือว่าเบี่ยงเบนความสนใจลูกไปเรื่องอื่นๆ หรือใช้วิธีแยกให้พี่ไปทาง น้องไปทาง โดยไม่ต้องไปสอบสวน ไปตัดสินว่าใครผิดใครถูก แค่หยุดพฤติกรรมตรงนั้นก็พอ และเมื่อลูกๆ เล่นกันดีๆ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรแสดงความชื่นชม เช่น “เล่นกันดีๆ อย่างนี้พ่อแม่สบายใจ” เป็นการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ลูกๆ รู้สึกว่าพ่อแม่ลำเอียง

การรักลูกให้เท่าๆ กันนี้ คุณหมอวิฐารณได้กล่าวถึงเรื่องการให้ความยุติธรรม ความเสมอภาคกับลูกด้วย ซึ่งไม่ได้แสดงว่าพี่จะต้องได้ทุกๆ อย่างเหมือนน้อง หรือน้องต้องได้เหมือนพี่เสมอไป แต่ต้องมีเรื่องของระดับพัฒนาการหรือวุฒิภาวะเข้ามาพิจารณาความเสมอภาคนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะกลับกลายเป็นความไม่เสมอภาคมากกว่า เช่น การให้เงินไปโรงเรียน น้องที่อายุน้อยกว่าก็ต้องได้เงินน้อยกว่าพี่ ถ้าน้องมาประท้วงว่าทำไมเขาได้น้อยกว่าก็ควรตอบว่า “เมื่อหนูโตเท่าพี่หนูก็จะได้เท่าที่พี่ได้”


L ที่ 2 …Limitation : รักนี้มีขอบเขต

สิ่งที่พ่อแม่ควรจะมีให้ควบคู่ไปกับความรักลูกก็คือ การมีขอบเขตที่เหมาะสม
“ความรักที่พ่อแม่มีให้แก่ลูกไม่มีคำว่ามากไป แต่สิ่งที่มากไปนั้นก็คือการที่ไม่มีขอบเขต การตามใจลูกมากเกินไป ไม่ฝึกให้รับผิดชอบ ไม่ฝึกให้เรียนรู้ผลการกระทำของตัวเอง ตรงนี้ต่างหากที่เป็นปัญหา การแสดงออกถึงความรัก การตามใจลูกจึงต้องมีขอบเขตในการปฏิบัติ

ลูกจะต้องเรียนรู้การระงับ การควบคุมตัวเอง ระงับความต้องการบางอย่างที่พ่อแม่ให้ไม่ได้ ความรักไม่ใช่การตามใจ เป็นคนละเรื่องกัน การที่พ่อแม่ไม่ตามใจ หรือกำหนดขอบเขตให้กับลูก อันนี้ต่างหากที่เป็นการแสดงความรัก เพราะพ่อแม่ต้องสอนให้ลูกควบคุมตัวเอง สอนให้รู้จักระงับตัวเอง รู้จักอดทนรอคอย คล้ายๆ ผู้ใหญ่ที่รู้จักระงับกิเลสครับ”

การกำหนดขอบเขตที่เหมาะสมนี้คุณหมอบอกว่าให้ดูตามวัย ตามพัฒนาการของลูก และงานนี้ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ปฏิบัติให้เสมอต้นเสมอปลาย และสอดคล้องกันทั้งพ่อและแม่ด้วย


L ที่ 3 …Let them grow : เปิดโอกาสให้ลูกได้โตตามวัย

ไม่ใช่ลูกโตแล้วก็ยังเลี้ยงดูลูกเหมือนเป็นเด็กๆ เล็กๆ หรือทำให้ลูกทุกอย่างเลย เรื่องนี้คุณพ่อคุณแม่ควรจะเปิดโอกาสให้ลูกได้ช่วยตัวเองเมื่อถึงวัยอันสมควรด้วยเช่น ให้ลูกได้ตักข้าวเข้าปากเอง ช่วงหัดเดินก็อาจจะมีการหกล้มบ้าง ล้มก้นกระแทกบ้าง ก็ต้องปล่อยให้ลูกได้ฝึก ไม่ใช่ว่ารักแล้วคอยปกป้อง ประคบประหงมจนเกินไป จะทำให้ลูกเป็นเด็กไม่รู้จักโตเสียที

รักลูกอย่างถูกต้อง
ถ้าคุณพ่อคุณแม่รักลูกและแสดงความรักอย่างถูกต้องแล้วละก็ จะทำให้ลูกเติบโตเป็นคนที่มีความมั่นใจในตนเอง มองตัวเองดี มองโลกในแง่ดี ข้อสำคัญที่สุดคือเป็นคนที่เห็นอกเห็นใจคนอื่น และให้ความรักแก่คนอื่นเป็น

ตรงกันข้าม เด็กที่ขาดรัก ขาดการดูแลเอาใจใส่ที่ดีจากพ่อแม่ก็จะเป็นคนที่ไม่อิ่มในความรักที่ตัวเองควรจะได้ แล้วก็ไม่สามารถให้ความรักกับคนอื่นได้

พ่อแม่รักลูก ลูกก็รู้อยู่ว่ารัก แต่ความรักที่เราคนเป็นพ่อเป็นแม่มีให้แก่ลูกนั้น เราก็ต้องออกแบบกันให้เหมาะสมว่า เราจะดำเนินรูปแบบความรัก ความสัมพันธ์กันในแนวทางไหน ลูกเราจะได้รับความรักอย่างเต็มที่ แถมยังรักกันแบบถูกวิธีด้วย

โดย ??? : 2014-08-15 14:06:46 IP : 110.171.36.24

ข้อความ *
รูปภาพ (รูปต้องมีขนาดไม่เกิน 50 k)
ผู้แสดงความคิดเห็น *
Email
 
New Code
Verify Code *

Your Data :
IP : 44.211.117.101
Internet form : ec2-44-211-117-101.compute-1.amazonaws.com
Date : 2024-03-28 10:22:21