กระทู้ความคิดเห็น

ผู้แสดงความคิดเห็น 0 คน
ผู้เข้าชม 882 คน

??????????????????????????????
พัฒนาการทางสรีระของทารกแรกเกิด

          รู้จักลูกรักของคุณ ก่อนอื่นขอแสดงความยินดีกับคุณทั้งสองที่ได้ลูกรัก หลังจากที่รอคอยมาเป็นเวลานาน หน้าตาลูกเหมือนใคร เหมือนพ่อหรือเหมือนแม่ ในระยะแรกเกิด ใบหน้าอาจจะดุบวมๆ อูมๆ ศรีษะอาจจะโย้เย้ ปูดตรงโน้นตรงนี้ มีรอยถลอกบ้าง คุณหนูอาจจะไม่น่ารักเหมือนที่คุณฝันหวานเอาไว้ แต่คุณก็จะ"รักลูก"ยิ่งขึ้นทุกวันๆเพราะลูกจะน่ารักน่าเอ็นดูเพิ่มขึ้น ก่อนจะกล่าวในเรื่องอื่นๆ ต่อไป จะขอแนะนำ ให้คุณรู้จักลูกรักของคุณ ให้รู้จักการเจริญเติบโตตามขั้นตอนของชีวิตจากเด็กอ่อนจนเข้าสู่วัยหนุ่มสาวและมีชีวิตคู่เหมือนคุณทั้งสอง 

ระยะการเจริญเติบโตของเด็ก 

แบ่งตามภาษากุมารเวชศาสตร์ ดังนี้  
1.ทารกแรกเกิด คือระยะตั้งแต่แรกเกิดจนครบเดือนแรก 
2.ทารก คือระยะตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 1 ปี  
3.วัยก่อนเรียน หรือปฐมวัยคือเด็กอายุตั้งแต่ 2-6 ปี  
4.เด็กวัยเรียน คือเด็กตั้งแต่อายุ 7-15 ปี 
5.เด็กวัยหนุ่มสาว เพสหญิงระหว่างอายุ 12-17 ปี เพสชายระหว่างอายุ 14-19 ปี การเจริญเติบโตทั้งทางร่างกาย การเปลี่ยนแปลงทางพัฒนาการ และด้านจิตใจของลูกจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในวัยต่างๆ ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อไป


น้ำหนักของลูก เมื่อคลอดลูกแล้ว สิ่งแรกที่คุณอยากทราบคือ เพสหญิงหรือเพศชาย สิ่งต่อไปคือ ลูกแข็งแรงไหม หรือน้ำหนักเท่าไร น้ำหนักเป็นสิ่งที่บอกถึงความสมบูรณ์ของทารกว่า ขณะอยู่ในท้องแม่นั้นคุณเธอเจริญอาหารเป็นยิ่งนัก คุณควรรู้ความจริงเกี่ยวกับน้ำหนักเด็กปกติคือ 
ก.เด็กที่อยู่ในท้องแม่ในระยะเวลาปกติ คือ 38-42 สัปดาห์นั้น โดยเฉลี่ยจะมีน้ำหนักในเพสชาย 3,100 กรัม เพศหญิง 3,00 กรัม  
ข.เด็กที่อยู่ในครรภ์มารดาน้อยกว่า 37 สัปดาห์ เราเรียกว่า ทารกคลอดก่อนกำหนด แพทย์เรียกว่า"พรีมี่" แปลว่าเด็กคลอดก่อนกำหนด 
ค.เด็กที่ขี้เกียจออกจากท้องแม่ นั่งแช่อยู่อย่างนั้น เกิน 42 สัปดาห์ เราเรียกว่า คลอดเกินกำหนด แต่อย่าคิดว่าดีนะ เพราะเนื้อตัวอาจจะเหี่ยว เล็บยาวคล้ายคนแก่ ทางสายกลางดีที่สุดคือ คลอดเมื่อครบกำหนด 
ง.เด็กน้ำหนักน้อย แม้จะตั้งครรภ์ครบกำหนดก็ตามแต่ก็ยังตัวเล็กอยู่นั่นแหละ คือน้อยกว่า 2,500 กรัม ต้องระวังในพวกนี้ อาจเกิดจากโรคติดเชื้อระหว่างแม่ตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน โรคไวรัสบางตัว โรคเอดส์ โรคบุรุษ หรือโรคสตรี หรือซิฟิลิส อาจเกิดจากแม่สูบบุหรี่ ติดเหล้า แม่เจ็บไข้ได้ป่วย ฯลฯ 

พัฒนาการทางสรีระของเด็กแรกเกิด สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในช่วงนี้มีดังนี้

การหายใจ เมื่อลูกอยู่ในครรภ์ ลูกไม่เคยต้องใช้ปอดในการหายใจ เมื่อคลอดแล้วลูกต้องหัดหายใจด้วยปอดของตัวเอง อุณหภูมิในห้องจะกระตุ้นการหายใจ รวมทั้งการจับต้องตัวทารกขณะออกจากครรภ์ ทารกจะหายใจพร้อมกับเสียงร้องจ้า 

อุณหภูมิของร่างกาย ตอนอยู่ในท้องแม่แสนสบายเพราะความอบอุ่นในร่างกายแม่ ไม่หนาว ไม่ร้อน แต่พอคลอดออกมา ทำไมมันไม่สบายเหมือนในท้องแม่เลย อาจจะเย็นไปทารกแรกเกิดอาจปรับตัวไม่ค่อยทัน อุณหภูมิแรกๆ จะต่ำ วัดได้อยู่ระหว่าง 35.5-36 องศาเซลเซียส ร่างกายจะหลั่งธัยรอยด์ฮอร์โมนมากขึ้น ทำให้คุณหนูตัวอุ่นขึ้นหน่อย เมื่ออายุครบ 1 วัน อุณหภูมิจะขึ้นเป็น 37 องศาเซลเซียส เด็กเกิดก่อนกำหนดบางรายตัวเล็ก การปรับตัวไม่ดีเลย บางคนหนักเพียง 800-900 กรัม แบบนี้ทางโรงพยาบาลต้องรีบนำเข้าตู้อบ เพื่อปรับอุณหภูมิให้พอเหมาะ ให้ออกซิเจนเพียงพอ อุณหภูมิในตู้อบเด็กอินคูเบเตอร์นี้ จะพออุ่นๆ เท่านั้นเพื่อให้ร่างกายเด็กอบอุ่นกำลังดี ตู้อบนี้ยังมีออกซิเจนให้เด็กหายใจมีการปรับความชื้นให้พอเหมาะด้วย 

การย่อยอาหาร ลูกอยู่ในท้องแม่ไม่เคยต้องย่อยอาหารเอง ไม่เคยต้องกังวลกับการย่อย พอออกมาปุ๊บธรรมชาติก็สอนให้เด็กอ้าปากงับหัวนม เด็กต้องหัดย่อยนมแม่ซึ่งย่อยง่ายกว่า เพราะธรรมชาติจัดมาให้ลูกมนุษย์ดูดเพื่อรอดชีวิตถ้าเราให้นมวัวก็ต้องดัดแปลงให้คล้ายนมคนแต่อีกนั่นแหละไม่ใช่นมคนโดยสมบูรณ์ เด็กจึงมีอาการปวดท้อง แน่น ลมมาก ท้องผูก จึงควรให้อภัยลูกที่ร้องไม่รู้จักจบสิ้น 

ภูมิต้านทานเชื้อโรคของเด็กแรกเกิด แม่นี่ช่างห่วงใยลูกเสียทุกอย่างแม้แต่ร่างกายก็ทำไปโดยอัตโนมัติ แม่ได้ส่งภูมิต้านทานโรคที่เรียกว่า "อิมมูโนโกลบูลินจี" ผ่านสายรกเข้าไปคุ้มครองลูกแต่บางชนิดชนิดต้องเป็นฝ่ายออกแรงสร้างขึ้นเองบ้างคือ"อิมมูโนโกลบูลิน เอ็ม"  และภูมิต้านทานโรคพวกอิมมูโนโกลบูลินแล้ว ยังมีอีกระบบที่เรียกว่า"คอมพลีเมนต์" แต่จะจบระบบยุ่งๆ แค่นี้ก่อน ขอสรุปว่า ทารกแรกเกิด 4 สัปดาห์แรกนั้นเปราะบางเป็นที่สุด 

รู้จักร่างกายของลูก  ศรีษะและรูปร่างลูก  ลูกแรกเกิดจะมีศรีษะโตหน่อยเมื่อเทียบกับลำตัว หน้าจะกลมแถมยังคอสั้นเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ พ่อเขาสูงโปร่ง ลูกม่อต้อได้ยังไงกัน ลักษณะเด็กแรกเกิดเป็นอย่างนี้ทั้งนั้นค่ะ  แต่ภายหลังเมื่อเด็กโตขึ้น รูปร่างจะเปลี่ยนแปลงไปตามครอบครัวและพันธุกรรม ดูที่ศรีษะลูกอีกครั้ง กะโหลกศรีษะประกอบด้วยกระดูกเป็นแผ่นๆ ที่เราเรียกว่า Membranous Bone ประสานกันหลายชิ้น ส่วนหน้ายังเปิดอยู่ เราเรียกว่า"กระหม่อมหน้า" จะปิดก็อายุร่วม 1 ปีครึ่ง ด้านหลังก็มีกระหม่อมหลัง ซึ่งเราไม่ค่อยจะพูดถึงกัน ใบหน้าจะดูอูมๆ อาจจะมีอาการบวมที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ทำให้ใบหน้า 2 ข้างไม่เท่ากัน แล้วแต่ส่วนใดจะถูกกดมาก ซึ่งเป็นอยู่ชั่วคราวและจะหายไปภายหลัง  

เต้านม   หนูน้อยบางคนมีนมโตตอนอายุ 2-3 วัน ทำให้เกิดความสงสัยว่า "อะไรนมตั้งเต้าแต่เด็ก" นมตั้งเต้านี้มันตั้งได้ทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าลูกผู้หญิงลูกผู้ชาย ที่เป็นเช่นนี้เพราะฮอร์โมนจากแม่ผ่านมาสู่ลูกตั้งแต่อยู่ในท้องมันก็โตมากน้อยต่างกัน บางคนมีน้ำนมไหลเสียอีกไม่ต้องไปบีบไปคั้นนะคะ เต้านมจะค่อยๆ เหี่ยวเล็กเหมือนทารกในเวลา 14 วัน ถือว่าเป็นปกติธรรมดาสามัญ ไม่ใช่ อาเพศ 

อวัยวะเพศ ในเด็กชายที่คลอดครบกำหนดจะมีอัณฑะอยู่ในถุงอัณฑะเรียบร้อย บางรายลงมาเพียงข้างเดียวซึ่งอีกข้างจะติดตามลงมาภายหลังปลายจำปี มักจะปิดซึ่งเกิดขึ้นเอง เราเรียกว่า จำปีหุบ และจะเปิดภายหลัง แต่เด็กก็ถ่ายปัสสาวะได้ ส่วนเด็กหญิงอวัยวะจะมีสีคล้ำ บวมเล็กน้อย บางคนมีมูกคล้ายๆ ตกขาว บางคนมีเลือดออก ทางช่องคลอด คล้ายๆ ประจำเดือนเมื่ออายุ 2-3 วัน เกิดเนื่องมาจากฮอร์โมนที่ผ่านมาจากแม่ทางสายรกพร้อมๆ กับฮอร์โมนที่ทำให้นมโต แต่ต่อไปจะหายไปเองในเวลา 1-2 สัปดาห์ จึงไม่ต้องตกใจอะไร 

สายสะดือ  หลังจากถูกตัดออกจากแม่ สายสะดือซึ่งคล้ายแท่งวุ้นจะค่อยๆ เหี่ยวแห้งหลุดไปในปลายสัปดาห์แรก บางคน 3 สัปดาห์จึงหลุด คุณควรทำความสะอาดโดยใช้ แอลกอฮอล์ 75% ที่ทางโรงพยาบาลมอบให้ทาวันละครั้ง ควรเปิดสะดือไว้ให้แห้งจะสะอาดและหลุดง่าย เมื่อหลุดแล้วถ้ามีเลือดซึมตลอดเวลาไม่รู้จักหยุด ควรพบแพทย์ เพราะเด็กอาจเกิดภาวะเลือดออกง่ายจากการขากวิตามินเค แพทย์จะฉีดยาให้เลือดหยุด 

การหายใจ เด็กแรกเกิดมักหายใจไม่สม่ำเสมอ คือหายใจเป็นพักๆ และหยุดเป็นพักๆ ไม่ต้องตกใจ อัตราการหายใจของเด็กแรกเกิด จะเท่ากับ 20-60 ครั้งต่อนาที ซึ่งคุณจะเห็นว่า เขาหายใจในอัตรานาทีเร็วกว่าของผู้ใหญ่เรา 

มือและเท้า มือและเท้าของทารกจะน่ารัก อาจจะมีเล็บยาวเกินปลายเล็บและขีดข่วนหน้าโปรดตัดด้วยเครื่องตัดเล็บ อย่าใช้กรรไกรปลายแหลม เพราะเด็กดิ้นอาจจะขีดข่วนผิวอ่อนๆ ได้ 

ผม เด็กบางคนเกิดมาผมบางแต่บางคนเกิดมาผมดกดำ นี่เป็นเรื่องของกรรมพันธุ์

ผิวหนัง  เด็กแรกเกิดบางคนจะมีไขขาวๆ ปกคลุมไปทั่ว แต่ความจริงไม่ใช่ของหน้าเกลียดอะไร เป็นสิ่งป้องกันไม่ให้ผิวหนังได้รับความรุนแรงหรืออันตรายจากสิ่งระคายเคือง บางคนเกิดมาผิวผ่องใส เด็กแรกเกิดมักจะดูคล้ำกว่าเด็กโตทั้งนี้เพราะเขามีเม็ดเลือดแดงจำนวนมาก ความเข้มข้นเลือดสูง ต่อมาจะดูขาวขึ้นคล้ายมาทางคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น 

อุจจาระ เด็กแรกเกิดส่วนมากจะถ่ายภายใน 24 ชั่วโมงเราเรียกตามภาษาแพทย์ว่า"เมโคเนียม" แต่ภาษาชาวบ้านเราเรียก"ขี้เทา"เพราะมันออกสีดำๆ เหนียวๆ คล้าย "ยางมะตอย" แต่วันต่อมาสีจะจางลง วันที่ 3-4อุจจาระจะมีสีเหลืองและดูเหลว เด็กกินนมแม่จะอุจจาระสีเหลือง ส่วนถ้ากินนมขวดจะเป็นก้อน อาจจะถ่ายยากสักหน่อยถ้าเทียบกับนมแม่ เด็กปกติอาจจะถ่ายบ่อยถึงวันละ 3-5 ครั้ง ไม่ถือว่าเป็นการท้องเสียหรือท้องเดินเพราะอุจจาระเป็นก้อนดีถ้าไม่ถ่ายเลยใน 24 ชั่วโมงต้องแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย 

ตัวเหลือง เด็กปกติจะมีอาการตัวเหลืองในระยะเวลา 2-3 วันแต่เหลืองไม่มาก และจะค่อยๆ จางไป ในเวลา 6-7 วันและหายไปเมื่อเด็กอายุได้ 1-3 สัปดาห์ ถ้าเหลืองจัดนานๆ ก็ต้องพบแพทย์เพราะอาจจะเกิดโรคได้มากมาย 

สิ่งที่อาจพบในเด็กแรกเกิดบางราย 

นอกจากที่กล่าวมา 10 ข้อนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นเสมอในเด็กแรกเกิด ลักษณะต่อไปนี้คุณก็อาจจะพบในเด็กแรกเกิดบางรายได้ 

รอยถูกกด รอยคล้ำ อาจเนื่องมาจากกระบวนการคลอดแต่เด็กบางคนผุดผ่องราวกับปั้นหน้าตาได้รูปสวยงาม เธออาจเป็นเด็กที่เกิดจากการผ่าท้องออกซึ่งไม่มีโอกาสได้ถูไถกับอุ้งเชิงกรานและช่องคลอด อันอาจทำให้รูปหน้าศรีษะบิดเบี้ยว เนื่องจากถูกกดอยู่นาน(แต่ทุกอย่างจะกลับสู่สภาพปกติ รูปร่างหน้าตาหน้ารักเหมือนเดิม) 

ตา ทารกอาจมีตาแฉะๆ กว่าเด็กปกติ เพราะการตีบตันของท่อน้ำตาที่ซุกซ่อนอยู่ใต้หนังบริเวณมุมหัวตา ติดกับจมูก คุณอาจใช้นิ้วมือลูบคลึงเบาๆ  บริเวณหัวตา ติดกับจมูก จะทำให้ท่อน้ำตาเปิด แลไหลลงในจมูก บางรายอาจจะกินเวลานานกว่าจะเปิดตาแฉะอยู่นานแต่ไม่มีหนองเราไม่นิยมผ่าตัดท่อน้ำตานี้ แต่ที่น่าวิตกมากกว่าคือ พวกตาอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียซึ่งจะมีลักษณะขี้ตามาก สีออกเหลือง หรือเหลืองปนเขียว เยื่อบุตาอักเสบแดง เรียกว่า "ตาแดง" ซึ่งมีอาการเกิดขึ้นภายในระยะ 2-5 วันหลังคลอดเพราะได้รับเชื้อขณะกับใบหน้าถูไถออกมาตามช่องคลอด  ตาอักเสบอาจเกิดจากเชื้อตัวอื่นๆ อีกแต่ไม่รุนแรงเท่า จี.ซี. 

โดยปกติหลังคลอด แพทย์จะรีบหยอดยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียทันทีที่ออกจากท้องแม่ซึ่งร่างกายอาจมีปฏิกิริยาระคายเคือง มีน้ำตาไหล มีขี้ตา สีขาวๆ ไม่เหลือง จะเกิดขึ้นภายในเวลา 6-24 ชั่วโมง และจะหายไป ถ้าตายังแฉะ ขี้ตามากหลังจากนั้นให้สงสัยว่าผิดปกติโดยเฉพาะขี้ตาเป็นหนองละก็ ควรให้แพทย์ตรวจค่ะ 

ปานสีน้ำเงิน เราจะพบที่ด้านหลังของเด็กเชื้อชาติมองโกเลีย ก็คือพวกเอเชียเรานี่แหละ ซึ่งจะมีขนาดใหญ่มากหรือน้อยต่างกัน แต่จะจางลงและหายไปเมื่อโตขึ้น 

เท้าปุกเท้าเป๋ ท่าที่เด็กอยู่ในครรภ์มารดาจะอยู่ในท่างอเข่าและรวบส่วนส้นเท้าเข้าด้วยกันในเด็กบางคนเท้าจะบิดเข้าในค่อนข้างมากทำให้มีลักษณะโก่ง ข้องอ ถ้าลูกนอนหงายลองจับขาและเท้าเหยียดตรง ถ้าเท้าเป๋ผิดปกติควรปรึกษาแพทย์เป๋มากเป๋น้อยแพทย์ก็จะแนะนำ บางรายไม่ต้องทำอะไร โตขึ้นพอลงน้ำหนักเดินได้วิ่งได้ก็หาย บางรายต้องให้แพทย์รักษาโรคกระดูก แก้ไข ใส่เฝือกชั่วคราว 

ถ้าเท้าปุกคล้ายกีบม้า อย่างนั้นอย่ารอช้าเชียว เพราะถือว่าเป็น"ความพิการแต่กำเนิด"เป็นคนจะเดินเขย่งเก็งกอยเป็นม้าอย่างไรได้ควรรีบปรึกษาแพทย์ซึ่งจะมีทางแก้ไขได้ค่ะ 

จุดขาวๆ ที่จมูก  ดูคล้ายสิวเสี้ยนในผู้ใหญ่แต่ไม่ใช่ แพทย์เราเรียกว่า Milia แล้วจะหายไปเอง อย่าไปบ่ง นอกจากที่จมูกแล้ว อาจจะพบในเหงือกและในเพดานปาก ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ถ้าบ่งอาจมีอันตราย เชื้อโรคเข้าไปทำให้ถึงตายได้ เคยมีตัวอย่างมาแล้ว

โดย ??? : 2013-07-16 04:47:21 IP : 110.171.36.69

ข้อความ *
รูปภาพ (รูปต้องมีขนาดไม่เกิน 50 k)
ผู้แสดงความคิดเห็น *
Email
 
New Code
Verify Code *

Your Data :
IP : 3.141.202.187
Internet form : ec2-3-141-202-187.us-east-2.compute.amazonaws.com
Date : 2024-04-23 12:57:46